ศรัทธาเหนือกาลเวลา อุ้มพระมาดำน้ำ ภูมิปัญญา ที่ทำให้ผู้คนมีจุดรวมใจและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แรมสิบห้าค่ำ เดือนสิบ ดาวกระพริบ นภาใส

ประเพณีสรง คงคาลัย สักการะ ประจงประจำ

พ่อเมือง เดินนำหน้า อุ้มพระมาดำน้ำ

ประชาชน คลาคล่ำ ร่วมขบวน แห่แหน

พระไตรรัตน์ ผู้ทรงฤทธิ์ เทพไท้สถิต ประจำแท่น

ดลให้คลาย หายคับแค้น ปกแดนป้องด้าว ชาวเพชรบูรณ์

จากคำกลอนดั่งกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีของความเชื่อและศรัทธาต่อองค์พระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคุ๋บ้านประจำเมืองเพชรบูรณ์ ที่ทุกปีในวันสารทไทย เดือนสิบ ประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ทั้งที่อยู่อาศัยในพื้นที่ รวมถึงคนที่ไปทำงานต่างถิ่นต่างจะเดินทางกลับมาหรือมาร่วมพิธีที่มีมนต์ขลังและเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ของผู้คนชาวเมืองเพชรบูรณ์ที่ว่ากันว่าการได้มาร่วมงานจะเป็นสิริมงคลกับชีวิตตลอดทั้งปี โดยมีส่วนของการประกอบพิธีที่ทำให้เกิดความสุขกาย สบายใจไม่ว่าจะเป็นการเสี่ยงทายทิศและคำอธิษฐาน เพื่อใช้ในประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ซึ่งในปี2566 ได้แก่ ทิศใต้ ใต้ ใต้ เหนือ เหนือ เหนือ ทั้งนี้เชื่อว่าแม่น้ำป่าสักไหลจากทางทิศเหนือสู่ทางทิศใต้เท่านั้น การกำหนดดำน้ำจึงมีแค่ 2 ทิศ การกำหนดทิศทางของการดำน้ำเชื่อว่าการดำน้ำหันหน้าไปทางด้านทิศใดนั้นมีผลต่อปริมาณน้ำโดยเชื่อว่าการหันหน้าไปทางทิศเหนือถือเป็นความต้องการร้องขอให้น้ำขึ้นให้มีปริมาณพอดี ส่วนการหันหน้าไปทางทิศใต้ถือเป็นความต้องการร้องขอให้น้ำลงอยู่ในความพอดีเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเมืองแห่งการเกษตรของประเทศ

ดังนั้นในการอุ้มพระดำน้ำจึงดำน้ำโดยหันหน้าไปทางด้านทิศเหนือ 3 ครั้ง และหันหน้าไปทางทิศใต้ 3 ครั้ง โดยความเชื่อ อิทธิปาฎิหาริย์ขององค์พระพุทธมหาธรรมราชาจะสามารถดลบันดาลให้เป็นไปตามที่ร้องขอโดยแม่น้ำป่าสัก จะมีปริมาณน้ำขึ้น และลงในปริมาณที่สมดุลในปีนั้น นับเป็นพิธีกรรมที่ช่วยลดความวิตกกังวลของชาวบ้านที่มีต่อภัยธรรมชาติจากลำน้ำป่าสัก ที่อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตเช่นภาวะน้ำท่วมหรือภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละรอบปี

ในระหว่างประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำนั้น ผู้ที่ร่วมในพิธีต่างก็จะโปรยดอกไม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นดอกดาวเรืองและดอกบัว จนแทบจะทำให้ผืนน้ำในบริเวณที่ประกอบพิธีเป็นสีเหลืองกันทั่วผืนน้ำรวมทั้งคนเพชรบูรณ์ยังเชื่ออีกว่าน้ำในลำน้ำป่าสักช่วงนี้เป็นน้ำมนต์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ บางคนในช่วงประกอบพิธีได้ลงไปในน้ำเพื่อนำน้ำมาชำระล้างร่างกายเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง

หลังจากเสร็จพิธีอุ้มพระดำน้ำแล้ว ท่านเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ กรมการเมือง และผู้เข้าร่วมขบวนเรืออัญเชิญองค์พระฯ ก็ทำการโยนสิ่งของมงคลที่นำมาร่วมประกอบพิธีให้กับผู้ที่เขามาชมพิธี ได้แก่ กระยาสารท ข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยน กล้วยไข่ ซึ่งเราจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่าร่มหงายกัน คือผู้คนบนฝั่งก็จะรอรับของจากผู้ร่วมพิธีในเรือ ด้วยการหงายร่มรับของกัน เพื่อนำของมงคลดังกล่าวแบ่งปันกันกลับไปกินเป็นสิริมงคล เป็นบรรยากาศที่สนุกสนานและเต็มเปี่ยมด้วยรอยยิ้มกันทั่วหน้า

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำของชาวเพชรบูรณ์ เป็นประเพณีเก่าแก่และทรงคุณค่า ควรที่จะต้องทำการศึกษาและอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นประเพณีที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนท้องถิ่น มิใช่เป็นเพียงแค่พิธีกรรม หากแต่เป็น วิถีชีวิตและภูมิปัญญาอันชาญฉลาดและทรงคุณค่าของบรรพบุรุษเพชรบูรณ์ภูมิปัญญาในการรักษาคุณภาพลำน้ำสักและสิ่งแวดล้อมภูมิปัญญาในการสร้างขวัญกำลังใจในการทำมาหากินภูมิปัญญาที่ทำให้ผู้คนมีจุดรวมใจและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ภูมิปัญญา ที่ทำให้ผู้คนใกล้ชิดธรรมะและพระพุทธศาสนา ประเพณีอุ้มพระดำน้ำจึงเป็นประเพณีอันทรงคุณค่ายิ่งสำหรับคนเพชรบูรณ์ที่จะได้เรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง ผ่านแนวทางที่บรรพบุรุษได้ปลูกฝังไว้ และรอให้คนเพชรบูรณ์ได้ร่วมกันสืบสานต่อไปถึงอนุชนรุ่นหลังและให้คงอยู่คู่แผ่นดินศักดิสิทธิ์และสงบร่มเย็นแห่งนี้ตลอดไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *