ข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์ วันที่ 27 มีนาคม 2566

อบจ.เพชรบูรณ์.-.ราชภัฏเพชรบูรณ์ MOU วิจัยพัฒนากัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์การแพทย์

27 มีนาคม 2566 ที่ห้องประชุมศรีทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ นายอัครเดช ทองใจสด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ศรีเรืองฤทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชา กัญชง หรือพืชสมุนไพร สำหรับประโยชน์ทางด้านการแพทย์การพัฒนาพืชเศรษฐกิจและอื่น ๆ โดยมีข้าราชการจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ คณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายอัครเดช ทองใจสด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการลงนามให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการสกัด ผลิตหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชา กัญชง หรือพืชสมุนไพรอื่น ๆ ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ด้วยพืชกัญชา กันชง หรือพืชสมุนไพรอื่น รวมถึง พัฒนาไปสู่การส่งเสริมเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือพาณิชยกรรมในอนาคต ตามหลักวิชาการและการพัฒนาไปสู่การผลิตยา อาหาร ตลอดจนประโยชน์อื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดอนุญาต โดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการส่งเสริม อบรม และพัฒนาเกษตรกรรม เพื่อให้ชุมชนหรือท้องถิ่นเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ในการดูแลสุขภาพและเสริมสร้างรายได้ การบริหารจัดการสมุนไพรกัญชาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพประชาชน พัฒนากัญชาทางการแพทย์ให้มีบริการที่ทั่วถึง เพียงพอ และปลอดภัย ในการดูแลสุขภาพประชาชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ วางแนวทางการบริหารการใช้กัญชง กัญชา เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสมและยั่งยืนรวมทั้งสนับสนุนงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ สำหรับขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ศรีเรืองฤทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ กล่าวว่าในส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์มีหน้าที่วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านกระบวนการสกัด แปรรูป และควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชา กัญชง หรือพืชสมุนไพร รวมทั้งขออนุญาต ผลิต (ที่ไม่ใช่การปลูก) นำเข้า ครอบครอง สกัด จำหน่าย หรือส่งออก ซึ่งพืชกัญชา กัญชง หรือพืชสมุนไพร เพื่อการวิจัย การเภสัช การแพทย์ การกุศล สุขภาพ อาหารและความงาม การส่งออก การพาณิชย์ และอื่น ๆ ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ และกลุ่มผู้ประกอบการเครือข่าย รวมทั้งการต่ออายุใบอนุญาตต่าง ๆ และสนับสนุนการดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ จะดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการปลูกกัญชาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ พร้อมสนับสนุน ผลผลิตเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการสกัด แปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง หรือพืชสมุนไพร สำหรับประโยชน์ทางด้านการแพทย์และอื่น ๆ ส่วนประเด็นเรื่องข้อขัดแย้งด้านกฎหมายในเวลานี้ไม่ได้หนักใจ มีเป้าวัตถุประสงค์และขั้นตอนขออนุญาตชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะในแง่อุปกรณ์และบุคลากรรวมทั้งโนฮาวต่างๆ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ มีศักยภาพและความรู้พร้อมอยู่แล้ว

ผู้ใหญ่ใจบุญมอบ3โครงการให้เด็กกำพร้า เพชรบูรณ์หารายได้ปิดเทอม

วันที่ 27 มีนาคม 2566 ที่ชมรมบ้านดนตรี4.ชนแดน ตำบลชนแดน อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มี ผู้ใหญ่ใจบุญชาวกรุงเทพมหานครโดยการนำของ นางธนพร หรือ คุณยายน้อย วังเย็น อาศัยอยู่ที่ เขตคลองสามวา กทม.และคุณตาสุรัตน์ วังเย็น วิศวกรงานก่อสร้างและคุณยายลำดวน วังเย็น อาศัยอยู่ที่ เขตสวนหลวง .กทม.พร้อมคณะประกอบด้วย..ญณี เหล่าวิริยะรัตน์ นางวรรณศรี มยุรพงษ์และ น..วิไลวรรณ ชมภูได้นำโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ โครงการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ โครงการเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ มามอบให้กับเด็กกำพร้าและยากจน ในพื้นที่บ้านชมรมบ้านดนตรีและยังมอบข้าวสาร จำนวน 12 ถุง ขนมขบเคี้ยว จำนวน 20 ถุงใหญ่และเสื้อผ้ามือสอง จำนวน 16 กระสอบ เพื่อจัดทำอาหารเลี้ยงเด็กกำพร้าในช่วงปิดภาคเรียนและส่งเสริมโครงการศูนย์เรียนรู้กับเด็กที่ขัดสนให้มีรายได้ระหว่างปิดภาคเรียนใช้ซื้ออุปกรณ์การเรียนและประกอบอาหาร

ดยคุณยายน้อยหรือ นางธนพร วังเย็น และคุณตาใหญ่หรือ นายสุรัตน์ วังเย็น กล่าวว่าวันนี้ได้มาดูพื้นที่ ที่บ้านชมรมบ้านดนตรีที่เด็กพักอาศัยและใช้เป็นสถานที่ฝึกการเรียนการสอนการฝึกปฏิบัติ โดยจะสร้างโรงเรือน เลี้ยงไก่ สร้างโรงเพาะชำ สร้างบ่อซีเมนต์เลี้ยงปลา และทำโครงหลังคาโรงครัวเพื่อไม่ให้เด็กลำบาก โดยปัจจุบันใช้แผ่นป้ายโฆษณาเก่าๆมาทำหลังคากันแดดกันฝน ซึ่งการดำเนินการจะเสร็จภายในเดือนเมษายน 2566 และจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่พร้อมไข่ ประมาณ 20 ตัว โรงเพาะชำผัก และบ่อซีเมนต์ทำให้เด็กๆได้มีผัก มีไข่ไก่ มีปลาไว้รับประทานโดยไม่ขาดแคลน

อุดมศักดิ์ เหล็กคำ/สายน้ำ เณรทองภาพ/ข่าว

รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์

23 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น. ที่อาคารหอประชุม 60 ปี กรมอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ ดร.มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 พร้อมมอบโอวาท แก่ผู้สำเร็จการศึกษา โดยมี นายทองจันทร์ ประทุมโฉม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ คณะครู อาจารย์ และผู้สำเร็จการศึกษา เข้าร่วม

ดร.มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การมอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษาในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการไปศึกษาต่อ และการประกอบอาชีพ วิทยาลัยเทคนิคแห่งนี้มีอายุถึง 86 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาทั้งในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ล้วนเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญของประเทศ อาชีวศึกษาถือเป็นแหล่งผลิตกำลังคนที่สำคัญ และเป็นความต้องการของประเทศ วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ถือว่าเป็นสถานศึกษาที่สามารถตอบโจทย์สังคมได้อย่างดี วันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น ก้าวต่อไปจะเป็นความสำคัญ ไม่ว่าจะไปศึกษาต่อ หรือประกอบอาชีพ ฝากผู้สำเร็จการศึกษา ขอให้พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทั้ง ความรู้ ทักษะ เรียนรู้เศรษฐกิจสังคม การเมือง การเปลี่ยนแปลงของสังคม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และขอให้มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นคนดีของสังคมต่อไป

ด้านนายทองจันทร์ ประทุมโฉม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์บริหารงานภายใต้นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในด้านการจัดการศึกษาด้านวิชาการ ด้านพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา และการให้บริการแก่สังคม พร้อมมุ่งสร้างนักเรียน นักศึกษา เตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน และสังคม ส่งเสริมให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้มีทักษะในการใช้ชีวิต และการทำงานในศตวรรษที่ 21 เห็นคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรม มีความรู้ ความสามารถ ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน ปัจจุบันวิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์มีจัดการเรียนการสอน 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรีเทคโนโลยีบัณฑิต ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ โดยในปีการศึกษา 2565 มีผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับรวม 1,012 คน แยกเป็นระดับปริญญาตรีเทคโนโลยีบัณฑิต 49 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 556 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ 407 คน ซึ่งการจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษาในครั้งนี้ก็เพื่อ ยกย่องเชิดชูเกียรติ นักเรียนนักศึกษา และเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา เกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง

เผยแพร่โดย : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *